รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
ความสำเร็จของอินโดนีเซีย ... บทเรียนที่น่าศึกษา
  25 ก.ย. 2560
แบ่งปัน



“อินโดนีเซีย”ถือเป็นชาติมหาอำนาจลูกขนไก่ และจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ”อินโดนีเซีย” ไม่เคยขาดนักแบดมินตันฝีมือดีขึ้นมาท้าทายนักแบดมินตันมือดีจากทั่วโลก

แม้อาจจะไม่ครบทุกประเภท แต่อินโดนีเซียก็แทบจะไม่เคย ”ร้าง” แชมป์ในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ
 
  อย่าง 3 รายการใหญ่ล่าสุด คือศึกชิงแชมป์โลกและ 2 ซูเปอร์ซีรีส์ที่เกาหลีกับญี่ปุ่น แม้สุดท้ายอาจจะไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก เพราะมีเรื่องราวมากมายในรอบชิงแต่ละทัวร์นาเมนต์ แต่สุดท้าย ประวัติศาสตร์ก็จะต้องบันทึกว่ามีนักแบดมินตันจากอินโดนีเซียเป็นแชมป์
 
เริ่มจากศึกชิงแชมป์โลก TOTAL BWF World Championships 2017 ที่สกอตแลนด์เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งหลังจากขับเคี่ยวกันมายาวนาน 1 สัปดาห์เต็ม ในรอบชิงวันสุดท้าย 27 สิงหาคม ก็มีนักแบดมินตันจากอินโดนีเซีย คือ Tontowi Ahmad กับ Liliyana Natsir เป็นแชมป์โลกประเภทคู่ผสม ขณะที่ Mohammad Ahsan กับ Rian Agung Saputro เป็นรองแชมป์ชายคู่  

ถัดมาเป็นซูเปอร์ซีรีส์ VICTOR Korea Open ที่เกาหลี เมื่อกลางเดือนกันยายน ก็มีนักแบดมินตันจากอินโดนีเซียเข้าชิงถึง 3 ประเภทและหนึ่งในนั้นเป็นการชิงชัยกันเอง โดย Praveen Jordan กับ Debby Susanto ได้แชมป์คู่ผสม Anthony Sinisuka Ginting ได้แชมป์ชายเดี่ยวระดับซูเปอร์ซีรีส์ครั้งแรกในชีวิตเมื่อเอาชนะ Jonatan Christie เพื่อนร่วมชาติที่เพิ่งคว้าแชมป์ชายเดี่ยวซีเกมส์ และ Marcus Fernaldi Gideon กับ Kevin Sanjaya Sukamuljo ได้รองแชมป์ชายคู่
 
  ปิดท้ายเมื่อวาน(24ก.ย.) ในรายการซูเปอร์ซีรีส์ DAIHATSU YONEX Japan Open ที่กรุงโตเกียว Marcus Fernaldi GIDEON กับ Kevin Sanjaya SUKAMULJO ก็แก้ตัวสำเร็จหลังผิดหวังที่เกาหลี โดยคว้าแชมป์ชายคู่ พร้อมทำคะแนนสะสมขึ้นเป็นมือ 1 โลกอีกครั้งในการประกาศอันดับในสัปดาห์นี้
 
ถ้าถามว่า ทำไม ”อินโดนีเซีย” ยังคงเป็นทีมที่มีนักแบดมินตันอยู่ในระดับโลกมากมาย คำตอบก็คือ การได้รับโอกาสแข่งขัน 

ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่เคล็ดลับอะไร หากแต่เป็นเรื่องปกติและเป็นแนวทางที่หลายชาติทำมาโดยตลอด นั่นคือให้โอกาสนักกีฬาไปร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือและถือเป็นการพัฒนาตัวเอง เพราะจะได้รู้ ”จุดอ่อน” ของตัวเอง พร้อมๆกับเรียนรู้ ”จุดแข็ง” ของคู่ต่อสู้
 

นักแบดมินตันอินโดนีเซียชุด ”สายเลือดใหม่” ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงในเวทีโลกและขึ้นมาทดแทนนักกีฬารุ่น ”ตำนาน” เหล่านี้ คือผลผลิตจากการแข่งขันซีเกมส์ 2015 ที่สิงคโปร์ และถูกสมาคมแบดมินตันอินโดนีเซียส่งไปแข่งขันมากมายหลายรายการเพื่อให้”รู้เขารู้เรา” พร้อมยกระดับพัฒนาตัวเองขึ้นมา
 
  อย่างเช่น Marcus Fernaldi GIDEON กับ Kevin Sanjaya SUKAMULJO ที่คว้าแชมป์ชายคู่ที่ญี่ปุ่นเมื่อวาน ในการแข่งขันซีเกมส์ 2015 ทั้งคู่ยังเป็น”เด็กใหม่”ที่ได้เหรียญเงินชายคู่ โดยแพ้ Angga Pratama กับ Ricky Karanda Suwardi รุ่นพี่ทีมชาติ ขณะที่ Praveen Jordan กับ Debby Susanto ซึ่งได้แชมป์คู่ผสมที่เกาหลี ก็คือเจ้าของเหรียญทองคู่ผสมซีเกมส์ 2015 
 
โดยนักกีฬาชุดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ”เด็กใหม่” ในขณะนั้น หลังจากการแข่งขันซีเกมส์ นักกีฬาที่มีแววว่าจะสามารถพัฒนาก็ถูกส่งไปร่วมแข่งขันรายการต่างๆมากมาย ขณะที่บางส่วนที่อาจจะมีผลงานไม่เข้าตาโค้ช ก็อาจจะไม่ได้รับโอกาสมากนัก อันถือเป็นเรื่องปกติของการคัดเลือกนักกีฬาของแต่ละชาติ เพราะในชุดนั้น นักแบดมินตันชายอย่าง Firman Abdul Kholik หรือ Ihsan Maulana Mustofa ทุกวันนี้ก็แทบจะหายไปจากทีม ขณะที่ Jonatan Christie ก็ตกรอบ 8 คนแต่สตาฟฟ์โค้ชยังเห็น ”แวว” ก็ใช้งานต่อและคว้าแชมป์ชายเดี่ยวในอีก 2 ปีต่อมา  

นี่คือ ”บทเรียน” ง่ายๆที่ไม่เป็นความลับอะไร
 
  ขณะที่การจัดการของสมาคมแบดมินตันฯของบ้านเรา นอกจากไม่ส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ และการจัดส่งไปแข่งก็ยังคงเป็น ”คนหน้าเดิม” ก็ยังมี ”จุดอ่อน” มากมายในเรื่องการบริหารจัดการ อย่างเช่นการจัดการแข่งขัน ”ไทยลีก” ซึ่งเคยติติงว่าเป็นช่วงเวลา ”ตรง” กับรายการแข่งขันในต่างประเทศ แต่สุดท้าย สมาคมแบดฯก็ยังคงเดินหน้าจัดการแข่งขันแบบขอไปที
 
จนการแข่งขันที่ระบุตอนเริ่มว่าเป็น ”ไทยลีก” ก็กลายเป็น U23 และเพราะช่วงเวลาที่ตรงกับการแข่งขันในต่างประเทศ ก็เลยแทบจะไม่มีนักกีฬามาลงแข่งขัน แถมนักกีฬาหลายคนก็แทบจะลงแข่งขันทุกประเภท ทั้งเดี่ยวและคู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการจัดการบริหารที่ผิดพลาดของสมาคมที่ยังคงเดินหน้าจัดการแข่งขัน และจบลงโดยไม่มี ”ดาวเด่น” ขึ้นมาป้อนทีมชาติไทยได้ในอนาคตเหมือนที่คาดหวัง  

และมองไม่เห็นว่าอนาคตทีมแบดมินตันไทยจะไปทิศทางไหน...

(ดอกปีกไก่)


 
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ