รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
โอลิมปิก 2020 ตอนที่สอง...25 ปีแห่งการรอคอยของเดนมาร์ก
  4 ส.ค. 2564
แบ่งปัน



ในโอลิมปิก 2020 ที่มหานครโตเกียวปีนี้ การแข่งขันแบดมินตันในประเภทชายเดี่ยว ถือเป็นการแข่งขันที่พลิกล็อคมากที่สุด แม้สุดท้าย หนึ่งในตัวเก็งที่จะคว้าเหรียญทอง คือ Viktor Axelsen มือ 4 ของรายการสามารถคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ แต่ก็มีนักแบดมินตันหลายคนที่จะต้องถูกเอ่ยถึงในความล้มเหลว

แน่นอนว่าคนแรกคือ Kento Momota มือหนึ่งชาวญี่ปุ่นที่ถูกยกเป็น”เต็งแชมป์”จากทุกสำนัก จากแฟนแบดมินตันทุกคน แต่สุดท้าย นักแบดมินตันชายเดี่ยวที่มักจะถูกอ้างว่า”เก่งที่สุดในโลกในขณะนี้”กลับตกรอบแบ่งกลุ่มเมื่อแพ้ Heo Kwang-hee จากเกาหลีในนัดสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่ม 15-21,19-21 แบบไปไม่ลามาไม่ไหว้



ไม่เพียงแต่ Kento Momota เท่านั้นที่เป็นมือวางที่ตกรอบ หากแต่ยังมีมือวางอีกถึง 3 คนที่ตกรอบแบ่งกลุ่มแบบไม่น่าเชื่อ นั่นคือ Ng Ka Long นักแบดมินตันมือ 9 ของโลกจากฮ่องกง B. Sai Praneeth ชายเดี่ยวมือ 15 โลกที่ตกรอบแบ่งกลุ่มแบบน่าผิดหวังในผลงานเพราะแพ้ทั้ง 2 นัด 

ส่วนนักกีฬาที่จะต้องยกย่องชมเชย คือ Kevin Cordón นักแบดมินตันมือ 59 ของโลกจากกัวเตมาลา ที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ที่แม้จะพลาดเหรียญรางวัล แต่เป็นผลงานที่น่าประทับใจ ทำให้หลังจบการแข่งขันโอลิมปิก การจัดอันดับโลกในสัปดาห์นี้ เขาขยับมาถึง 15 อันดับมาอยู่ที่ 44 ของโลก



ขณะที่ผลการแข่งขันที่ทั่วโลกเห็นแล้วว่า Viktor Axelsen เอาะชนะ Chen Long แชมป์เก่าจากจีนในรอบชิง 21-15,21-12 แสดงให้เห็นว่าฝีมือของเขาเหมาะสมทุกประการ และเหรียญรางวัลที่เดนมาร์กรอคอยมายาวนาน เพราะแชมป์ชายเดี่ยวจากเดนมาร์กคนล่าสุดคือ Poul-Erik Høyer Larsen ประธาน BWF คนปัจจุบันที่คว้าแชมป์ในแอตแลนต้าเกมเมื่อปี 1996 หรือเมื่อ 25 ปีก่อน

ส่วน Chen Long ที่ได้เหรียญเงิน ก็ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ เพราะแม้จะเป็นหนึ่งในคนที่ถูกคาดหวังว่าอาจจะคว้าเหรียญทอง แต่ในความเป็นจริงในรอบ 16 คนที่เจอ Lee Zii Jia แชมป์ All England จากมาเลเซีย รอบ 8 คนสุดท้ายพบ Chou Tien-chen มือ 2 ของรายการจากไต้หวัน หรือรอบรองชนะเลิศที่พบ Anthony Sinisuka Ginting จากอินโดนีเซีย เจ้าของเหรียญทองครั้งก่อนก็ถูกมองว่าเป็นรองทั้ง 3 แมทช์



ที่สำคัญคือการเข้าร่วมโอลิมปิกทั้ง 3 ครั้ง Chen Long ก็สร้างประวัติศาสตร์ได้เหรียญทุกครั้ง ตั้งแต่เหรียญทองแดงที่ลอนดอนในปี 2012 เหรียญทองที่ริโอ 2016 และเหรียญเงินที่โตเกียวครั้งนี้

ส่วน Anthony Sinisuka Ginting ก็ทำเหรียญทองแดงให้อินโดนีเซีย และเป็นเหรียญแรกในประเภทชายเดี่ยวที่อินโดนีเซียได้ หลังจากครั้งล่าสุดที่นักกีฬาขาตินี้ได้เหรียญในประเภทชายเดี่ยวคือปี 2004 ที่ Taufik Hidayat ได้เหรียญทองและ Sony Dwi Kuncoro ได้เหรียญทองแดง



ขณะที่ชาติที่ต้องนับหนึ่งใหม่คือมาเลเซีย ที่ไร้เหรียญเป็นครั้งแรกหลังจากที่ Lee Chong Wei ได้เหรียญเงินสามครั้งก่อนหน้านี้ที่ปักกิ่งในปี 2008 ลอนดอน 2012 และริโอ 2016 ส่วน”ญี่ปุ่น”ที่อกหักครั้งใหญ่ คงต้องรอต่อไปว่านักกีฬาคนไหนจะทำผลงานคว้าเหรียญชายเดี่ยวเหรียญแรกให้ญี่ปุ่น และเป็นเหรียญสีไหน

อีกสามปีที่ปารีส การแข่งขันชายเดี่ยวก็จะยังคงเข้มข้นและยากที่จะคาดเดาเช่นเดิม

Cr.Photo : BadmintonPhoto
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ