รู้จริง รู้ลึก รู้ทัน ทุกความเคลื่อนไหวของวงการแบดมินตันอ่าน Badminton Thai Today
ข่าวสารและกิจกรรม
ถึงเวลาทบทวนการทำทีมชาติไทย...หรือยัง?
  22 ก.ย. 2560
แบ่งปัน



วันก่อนเขียนเรื่อง”ขนาดของทีม” ว่าทำให้ทีมแบดมินตัน”อินโดนีเซีย”กลับมาสร้างผลงานได้ดีในรายการ VICTOR Korea Open การแข่งขันแบดมินตันระดับซูเปอร์ซีรีส์ที่กรุงโซล ที่สามารถเข้าชิงได้ถึง 3 ประเภท ขณะที่เจ้าภาพอย่างเกาหลี ได้ชิงประเภทเดียวและจบแค่”รองแชมป์” โดยสรุปว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของอินโดนีเซีย มาจาก”ขนาดของทีม” ที่มีนักกีฬามากมายถูกส่งไปแข่งขันรายการต่างๆในต่างประเทศ
 
 

แบดมินตันทุกวันนี้ มีการแข่งขันทุกสัปดาห์ บางสัปดาห์ก็มีมากกว่า 1 ทัวร์นาเมนต์ เพราะมีแข่งพร้อมกันหลายระดับ อย่างสัปดาห์นี้ ก็มีทั้ง Superseries ที่โตเกียว คือ DAIHATSU YONEX Japan Open และ OUE Singapore International Series 2017 ซึ่งเป็นรายการระดับ International Series ที่สิงคโปร์ 
 
  เพราะมีการแข่งขันหลายรายการ ทำให้ถึงปัจจุบัน ทีมแบดมินตันชาติต่างๆทั้งอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน กระทั่งจีน ก็จะเรียกใช้งานนักแบดมินตันมากมายที่พยายามแบ่งตามระดับของรายการออกไปแข่งขัน ทั้งเพื่อทดสอบฝีมือ จนถึงพัฒนาฝีมือ เพราะการออกไปแข่งขันและเจอกับนักแบดมินตันชาติอื่น ยังไงก็ดีกว่าซ้อมอยู่ในประเทศและเจอแต่คู่ซ้อมหน้าเดิมๆ
 
สำหรับประเทศไทย ไม่นับรายการระดับ Superseries และ Grand Prix Gold ก็ดูเหมือนจะมีเพียง”บ้านทองหยอด” กับ”แกรนนูลาร์” ที่ส่งนักกีฬาไปแข่งขัน และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักกีฬาไทยจากทั้ง 2 สโมสร ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด เช่นที่ "เบสท์-จ๋อมแจ๋ม" ชญานิษฐ์ ฉลาดแฉลม กับ ผไทมาส เหมือนวงศ์ เพิ่งคว้าแชมป์หญิงคู่รายการ YONEX SUNRISE Vietnam Open 2017 เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่เวียดนาม  
 
  ที่ต้องยกเรื่องนี้มาเอ่ยถึงอีกครั้ง เพราะในวันนี้(22ก.ย.) ในการแข่งขันรอบ 8 คนสุดท้าย หรือ Quarter Finals รายการ DAIHATSU YONEX Japan Open น่าสนใจและต้องบอกว่าแปลกใจ เพราะไม่มีนักแบดมินตันไทยมาถึงรอบนี้เลยแม้แต่คนเดียว
 
คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ”ขนาดของทีม” ที่ทำให้นักแบดมินตันของไทยจำนวนมากขาด”แรงกระตุ้น” ที่จะพัฒนาฝีมือ เพราะหากพูดกันแบบอาจจะทำร้ายจิตใจนักกีฬาก็คือ โอกาสติดทีมชาติของนักกีฬาหลายคนเป็น”ของตาย” เพราะนักกีฬาหน้าใหม่แทบจะไม่มีโอกาสถูกเลือกติดทีมชาติ ทำให้นักกีฬา”คนหน้าเดิม”ขาดแรงจูงใจที่จะเอาชนะและสร้างผลงาน  
 
  ต่างจากนักกีฬาจีนที่ถ้าเจอกันเองในทุกเวทีแข่งขันก็จะเล่นกันแบบ”เอาเป็นเอาตาย” เหมือนที่มีคำกล่าวว่า “ไม่มีที่ยืนสำหรับคนแพ้”ในประเทศจีน เพราะคนชนะจะรับ”ทุกอย่าง”ตั้งแต่ชื่อเสียงเกียรติยศไปจนถึงหน้าที่การงานเมื่อกลับบ้าน ขณะที่คนแพ้ ต้องกลับไปฝึกหนักเพื่อเลียแผลใจ
 
ตัวอย่างเช่น”หญิงเดี่ยว”ในการแข่งขันที่โตเกียวรอบ 8 คนสุดท้ายวันนี้ ปรากฏว่า”ญี่ปุ่น” มีนักกีฬาผ่านมาในรอบนี้ถึง 4 คนคือ Nozomi OKUHARA แชมป์โลกคนล่าสุด Akane YAMAGUCHI มือ 2 หญิงเดี่ยวโลก Sayaka TAKAHASHI ที่ไปคว้าแชมป์หญิงเดี่ยวที่เวียดนามรายบการเดียวกับ”เบสท์-จ๋อมแจ๋ม” และ Aya OHORI ที่แฟนๆชาวไทยคุ้นหน้าดี  
 
  หรือ”จีน”ที่มักจะแซวกันว่า”หมดยุคหญิงเดี่ยว”หลังจาก 2 หวัง 1 หลี่เลิกเล่น ก็ยังมีนักตบลูกขนไก่สาวยุคใหม่ผ่านเข้ามาในรอบ Quarter Finals ถึง 2 คนคือ CHEN Yufei แชมป์เยาวชนโลกคนล่าสุด และ HE Bingjiao 
 
ประเภทหญิงคู่ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะรอบนี้ 4 คู่ 16 คนที่เจอกัน เป็นเรื่องของ 2 ชาติเท่านั้น นั่นคือญี่ปุ่น ที่มีนักแบดมินตันหญิงคู่ผ่านมาในรอบนี้ได้ถึง 5 คู่ ส่วนอีก 3 คู่มาจากเกาหลี  
 
  ที่เขียนมา ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า”ขนาดของทีม”ยังไงก็สำคัญ และสิ่งที่ทำได้ก็คือ การส่งนักกีฬาไปแข่งขันให้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรอเฉพาะรายการใหญ่ที่จะส่งนักกีฬาไปแข่งขัน โดยเฉพาะ”สายเลือดใหม่”ที่น่าจะได้รับโอกาสมากขึ้นเพื่อไป”ทดสอบฝีมือ” และเป็นแรงกดดันให้นักกีฬาทีมชาติชุดปัจจุบันพัฒนาฝีมือมากขึ้น
 
เพราะการไม่ลงสนาม ก็เหมือนการ”หยุดอยู่กับที่”ขณะที่คนอื่น”เดินแซง” และนี่คือบทเรียนที่สมาคมแบดมินตันฯน่าจะทบทวนอีกครั้ง
 
 
ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ